โดยส่วนตัวผมเป็นคนใช้ลินุกซ์ตระกูล Debian มาพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ว่าเก่งอะไรนะ ฝีมือผมก็แค่ระดับ User ธรรมดาคนนึง ซึ่งลูกหลาน Debianที่ใช้มาก็อย่างเช่น Ubuntu Mint หรือตัวอื่นๆ ที่เอา Ubuntu ไปพัฒนาต่ออีกทีก็พอจะใช้มาบ้าง หรือจะเป็นตระกูล Red Hat ผมก็มีโอกาสได้ใช้แค่ Fedora หรืออีกตัวคือเจ้ากิ้งก่าเขียว OpenSUSE ก็เคยใช้ผ่านหูผ่านตามาบ้าง ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยจะโอเคกับผมสักเท่าไหร่ คนอื่นผมไม่รู้นะ อาจจะโอเคก็ได้ จนวันนึงได้ลองลินุกซ์ตระกูลที่ว่ามาข้างต้น ก็รู้สึกเบื่อๆ ก็เข้าเว็บ distrowatch.org ก็ไปสะดุดกับคำว่า Based on: Independent ซึ่งตอนนั้นก็จำไม่ได้ว่าไปดูลินุกซ์ตัวไหนเข้าถึงเจออันนี้ ซึ่งความหมายมันก็ประมาณว่า พัฒนาขึ้นมาเอง และไม่ได้ใช้ตัวอื่นมาพัฒนาต่อ ยกตัวอย่างเช่น Debian ที่ไม่ได้เอาลินุกซ์ตัวอื่นมาพัฒนาต่อนั่นแหละ และยังเป็นพ่อของลินุกซ์หลายๆ ตัว อย่างเช่น Ubuntu ผมก็เลยมีความคิด และทำไมเราไม่ใช้ลินุกซ์ที่เป็นแบบ Independent เลยหละ มันอาจจะเป็นสิ่งที่เราตามหาก็ได้นะ ตอนนั้นเองผมก็ไล่หาดูว่ามีลินุกซ์ตัวไหนบ้างที่เป็น Based on Independent ทั้งที่ผมเคยใช้มา และยังไม่เคยลอง ซึ่งก็มาจบที่ Arch เป็นลินุกซ์ที่ผมเห็นบ่อยมากและไม่เคยคิดอยากจะลองมันเลย ด้วยข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เขาว่าใช้ยากมาก แต่ก็นะ ถ้าไม่ลองเองก็ไม่รู้ ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ ลองให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย และผมก็ได้ลองสมใจอยาก ทำให้ผมได้รู้ว่า โอ้โห! ทำไมเราไม่ใช้มันตั้งแต่นานๆ ฟร่ะ และต่อจากนี้ผมจะขอบอกถึงข้อดีของการใช้ลินุกซ์ Arch ว่ามันมีอะไรดีนักหนาทำไมผมถึงติดงอมแงมขนาดนี้
Lightweight
มีความความบางเบา เพราะหลังจากที่คุณติดตั้งลินุกซ์ Arch เสร็จคุณจะไม่ได้อะไรเลย นอกจาก Kernel เปล่าๆ และไม่มี UI ให้ใช้งานด้วย บางคนอาจจะสงสัย แล้วจะใช้ไงละ คำตอบง่ายๆ…ก็ติดตั้งเองครับ
I’m PACMAN
หลายคนอาจจะสงสัยว่า pacman คืออะไร เกมหรือเปล่านะ เปล่าเลย มันคือตัวจัดการแพคเกจทุกอย่างของลินุกซ์ Arch ชื่อเต็มมันคือ package manager หากจะเปรียบเทียบลินุกซ์ฝั่ง Debian ก็ apt-get นั่นแหละ แล้วทำไมผมถึงยกเป็นข้อดีหนะหรอ ก็ตอบอย่างง่ายๆ ว่า ผมชอบชื่อนี้ pacman ฟังดูเท่ดี แค่นี้แหละ ไม่มีเหตุผลอื่นใดความชอบล้วนๆ ฮ่าๆ
AUR give you everything
แหล่งรวมซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้กับลินุกซ์ Arch ชื่อเต็มๆ มันก็คือ AUR : Arch User Repositoryถ้าจะอธิบายให้ง่ายละกัน อย่างเช่นผมใช้ Ubuntu อยู่แล้วเกิดอย่างติดตั้งโปรแกรมหนึ่งที่ไม่มีให้ติดตั้งอย่างเป็นทางการจาก Ubuntu คือไม่สามารถเปิด Terminal แล้วพิมพ์ apt-get install [ชื่อโปรแกรม] เข้าไปได้เลย แล้วจะทำยังไงละ ผมก็ต้องเพิ่ม Personal Package Archives หรือ PPA เข้าไป เพื่อที่จะให้ระบบอัพเดทข้อมูลจากแหล่งที่ผมได้เพิ่มเข้าไปด้วย หรือที่เรียกว่าติดตั้งโปรแกรมจากบุคคลที่สา่ม (Third Party Software) จากนั้นค่อยติดตั้งโปรแกรมที่ผมต้องการอีกที หรือหลายคนอาจจะบอกว่าก็ไม่เห็นยากเลย โหลดไฟล์ deb มาติดตั้งก็จบ อันนั้นมันก็จริง แต่อยากจะบอกว่าติดตั้งใน terminal เร็วกว่าครับ (ถ้าใช้จนคล่อง) กลับมาสู่ AUR กันต่อ ข้อดีของมันคือมันได้รวมรวบโปรแกรมต่างๆ ไว้หมดแล้วทั้งแบบเป็นทางการจาก Arch และไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้ใช้ทำแจกกันเอง ซึ่งมันดีสำหรับผมมาก เพราะมาหาที่เดียวจบ สามารถติดตั้งจาก Terminal ได้เลย คุณไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโปรแกรมที่คุณต้องการ
Fully Customize
อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่า ลินุกซ์ตัวนี้มันเบามาก เพราะว่ามันไม่มีอะไรให้คุณเลย นอกจาก Kernel เปล่าๆ ทุกอย่างคุณต้องลงเอง นั่นแหละมันจึงเป็นข้อดีอย่างนึงว่าคุณอยากให้ลินุกซ์ออกมาเป็นแบบไหน คุณอยากจะใช้ DE ไหนก็มีให้เลือกหมด ขนาด DE ของลินุกซ์ Deepin มันยังมีเลย บางทีคุณอาจจะชอบความสวยของ Deepin แต่ไม่อยากใช้ลินุกซ์ตัวนั้น อยากได้แค่หน้าตา ก็ลงแค่ DE ของ Deepin แค่นี้ก็ได้ลินุกซ์ Arch ที่หน้าตาเหมือน Deepin ละ
Arch not have Version
ถ้าเป็นลินุกซ์ Ubuntu ก็จะมีการนับเวอร์ชั่น เช่น 16.04 17.10 อะไรแบบนี้หรือถ้า Fedora ก็เวอร์ชั่น 21 22 23 แต่กับ Arch ไม่มีการนับแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่คุณติดตั้ง มันคือเวอร์ชั่นล่าสุด มันก็เป็นผลดีไม่ว่าคุณจะลงไว้นานแค่ไหน ก็ยังได้รับการอัพเดทเสมอ ไม่ต้องอัพเวอร์ชั่นใหม่เหมือนลินุกซ์ตระกูลอื่นๆ
Fast Realease Update
อีกอย่างที่ผมชอบคือมีอะไรมาใหม่ก็ได้ใช้ก่อน อย่างเช่นคุณใช้ DE Gnome อยู่ แค่เวอร์ชั่นใหม่ออกอีกละ ถ้าเป็นลินุกซ์ตัวอื่น ก็อาจจะต้องรอสักนิดกว่าจะได้อัพเดท แต่สำหรับ Arch สามารถอัพเดทได้เลย แต่ก็เหมือนเป็นดาบสองคม เพราะหากเวอร์ชั่นที่ออกมาให้อัพเดทมีบั๊กอยู่ ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ ตรงนี้ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงกันไป (สรุปดีหรือไม่ดีฟร่ะ)
Rolling Release
ด้วยความที่มีเวอร์ชั่นเดียวที่ผมอธิบายไว้ในข้อ 5 มันจึงสามารถอัพเดทไปได้เรื่อยๆ หรือที่เรียกเท่ๆ ว่า Rolling Release ไม่ว่าจะยังไง คุณก็ยังสามารถอัพเดทลินุกซ์ Arch ที่คุณใช้อยู่ได้ตลอด (อัพเดทไปยาว)
Fast typing
พิมพ์เร็วขึ้น เพราะคุณต้องพิมพ์คำสั่งใน Terminal (ข้อดีหรอเนี่ย)
Community
อีกหนึ่งอย่างที่ผมชอบคือเว็บบอร์ดที่ไว้พูดคุยสอบถามเกี่ยวกับการใช้งานลินุกซ์ Arch นั้นมีสมาชิกอยู่เยอะมาก ใครติดปัญหาตรงไหนก็สามารถเข้าไปสอบถามได้เลย หรือบางที อาจจะมีคนถามปัญหาแบบเราอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งจากที่ผมลองไปส่องมา ก็ได้คำตอบมาแก้ปัญหาที่ผมเจออยู่เยอะเหมือนกัน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นความรู้สึกที่ผมได้ลองใช้ลินุกซ์ Arch จนตอนนี้ก็ยังไม่คิดว่าจะไปใช้ตัวอื่นๆ เลย ก็อยากจะนำเสนออีกทางเลือกนึงสำหรับการใช้ลินุกซ์ หากใครที่เบื่อๆ หรืออยากลองอะไรใหม่ๆ ก็อยากให้ลองลินุกซ์ Arch ไปใช้งานกันดูนะครับ และท่านจะอยากใช้ต่อไปเรื่อยๆ แบบผม หรือไม่ก็อาจจะไม่อยากใช้อีกเลยก็ได้ ฮ่าๆ บทความนี้อาจจะยาวหน่อยนะครับ ก็ขอให้อ่านให้จบละกันนะครับ Welcome to Arch family สวัสดีครับ.