เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ

Linux

เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ

มากกว่า 8 ปีที่ผ่านมา

5 min read

บทความนี้มีต้นฉบับมาจากเว็บ linuxthailand.org ซึ่งตอนนี้เข้าไม่ได้ ผมเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์เลยขอนำมาอัพไว้ที่เว็บนี้ เผื่อท่านใดสนใจที่จะอ่านมัน ซึ่งหากทีมงานหรือเจ้าของบทความเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมยินดีนำบทความนี้ออกให้ครับ

อุปสรรคอันดับต้นๆ ที่รบกวนการเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ คงจะหนีไม่พ้นข้อสงสัยเบื้องต้นเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น ปัญหาหนึ่งก็คือ ลีนุกซ์มีให้เลือกเยอะแยะหลายตัว Red Hat บ้าง Ubuntu บ้าง แต่ละชื่อก็ไม่ค่อยจะคุ้นเอาเสียเลย แล้วควรจะเริ่มศึกษาตัวไหนก่อนดี บทความนี้จะช่วยให้คลายข้อสงสัยได้อย่างแน่นอนครับ

นับตั้งแต่ปี คศ. 1994 ที่เคอร์เนลลีนุกซ์เวอร์ชั่นแรกได้ถือกำเนิดขึ้นมา เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ว่าโปรแกรมเคอร์เนลขนาดจิ๋วนี้ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกจนมาถึงวันนี้ โปรแกรมเล็กๆ นี้ได้เข้าไปเป็นหัวใจสำคัญของระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตระบบปฏิบัติการลีนุกซ์นี้จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกมากในโลกอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของระบบปฏิบัติการโดยทั่วไปแล้ว ลำพังเฉพาะ “เคอร์เนล” เพียงชิ้นส่วนเดียวย่อมไม่สามารถทำงานทุกอย่างได้ครบถ้วน จึงต้องอาศัยซอฟต์แวร์อื่นๆ อีกหลายส่วนเพื่อประกอบกันเป็นระบบปฏิบัติการที่สมบูรณ์ มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะปฏิบัติงานตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ตามจุดประสงค์ของการใช้งาน ได้แก่ การเป็นเซิร์ฟเวอร์ในระบบเครือข่าย การใช้งานเดสทอปหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรืออาจประยุกต์ใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การเป็นสมองกลฝังตัวในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เคอร์เนลลีนุกซ์ทำงานเป็นระบบปฏิบัติการที่พร้อมใช้งานได้จริง จะต้องมีโปรแกรมสนับสนุนระบบ โปรแกรมยูทิลิตี้ โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ สำหรับงานบริการด้านต่างๆ และระบบการติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) รวมกันทำงานอย่างเป็นระบบ

ดังนั้นการที่จะได้มาซึ่งซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์นั้น จำเป็นต้องนำเอาซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมากมารวบรวมกันเอาไว้เป็นชุดเดียวกัน จัดทำให้สะดวกต่อการติดตั้ง ปรับแต่ง และใช้งานโดยคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้ความรู้ประสบการณ์เชิงเทคนิคอะไรมากมาย การเผยแพร่ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์โดยจัดทำเป็นชุดซอฟต์แวร์ “พร้อมใช้” นี้เอง เราเรียกกันว่า ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น (Linux Distribution)

จุดกำเนิดของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น

ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นหรือเรียกสั้นๆ กันว่า “ลีนุกซ์ดิสโทร” เกิดจากความต้องการเผยแพร่ (Distribute) ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ให้เกิดความนิยมแพร่หลายออกไป คำว่า Distribution นี้เป็นความหมายกว้างๆ ครับ มีปรากฏในทุกแวดวงสังคม ตัวอย่างเช่น วงการแฟชั่น วงการดนตรี วงการศิลปะ ก็มีกลุ่มบุคคลที่ต้องการเผยแพร่แนวคิดของตนเองออกไปสู่คนอื่นๆ ในสังคมเช่นกัน สำหรับลีนุกซ์ดิสโทร ก็คือกลุ่มบุคคลที่ต้องการเผยแพร่ให้คนอื่นๆ หันมาสนใจและนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ไปใช้งานกันให้แพร่หลายมากขึ้นนั่นเอง แรงเสริมที่ทำให้เกิดลีนุกซ์ดิสโทรขึ้นนั้นมีดังนี้ครับ

  • อันดับแรก เนื่องจากในยุคที่ลีนุกซ์เริ่มต้นใหม่ๆ นั้น ระบบอินเตอร์เน็ตยังมีความเร็วไม่มากนัก จึงไม่สะดวกเลยที่จะดาวน์โหลดเคอร์เนลลีนุกซ์และส่วนประกอบต่างๆ มาติดตั้งใช้งาน เพราะกว่าจะครบสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างได้ก็ใช้เวลานานทีเดียว การจัดจำหน่ายซีดีรอมชุดติดตั้งโปรแกรมลีนุกซ์จึงเป็นหน้าที่สำคัญอันดับแรกของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น

  • ประการที่สอง ในยุคเริ่มแรกนี้เช่นกันที่โปรแกรมต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาไปตามกำลังของผู้พัฒนาโปรแกรมจากทั่วโลก ดังนั้นการนำไปใช้งานนั้นจะมีสภาพที่ค่อนข้าง “ดิบ” อยู่พอสมควร ผลงานซอฟต์แวร์ที่แจกจ่ายกันจึงอยู่ในสภาพของ โปรแกรมต้นฉบับ (source code) เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการนำไปใช้งานจะต้องผ่านขั้นตอนทางเทคนิคที่เรียกว่า “การคอมไพล์โปรแกรม” ( Program Compilation ) จึงทำให้ไม่สะดวกหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้หน้าใหม่อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น ดังนั้นกลุ่มลีนุกซ์ดิสโทรจึงต้องเตรียมซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของตนเองให้อยู่ในสภาพ “พร้อมใช้” อย่างแท้จริงจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้

  • ประการที่สาม ขั้นตอนการติดตั้งที่แสนยุ่งยากของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ จะต้องถูกออกแบบใหม่ให้ง่ายที่สุดไม่ต่างอะไรจากการเรียกคำสั่ง Setup ในการติดตั้งวินโดวส์ รวมไปถึงการตั้งค่าต่างๆ การใช้งานและการปรับแต่งระบบ เพียงบูตด้วยแผ่นซีดีรอม คลิ๊ก Next ไปเรื่อยๆ แล้วท่านจะได้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ที่ต้องการ พูดง่ายๆ ว่า ลีนุกซ์ดิสโทรจะต้องเป็นการทำให้การใช้งานลีนุกซ์เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับบุคคลทั่วไปนั่นเอง

ดังนั้น ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่น จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นองค์กร มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ระบบปฏิบัติการที่ใช้ลีนุกซ์เป็นเคอร์เนลแก่บุคคลทั่วไปให้เกิดการใช้งานแพร่หลาย โดยดำเนินงานภายใต้ข้อกำหนดของชุมชนโอเพ่นซอร์สและฟรีซอฟต์แวร์ ซึ่งในปัจจุบันมีลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นทุกรายที่มีในโลกนี้ได้จากเว็บไซต์http://distrowatch.com

คุณลักษณะที่ดีของลีนุกซ์ดิสโทร

ลีนุกซ์ดิสโทรที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ทำให้ยากต่อการตัดสินใจเลือกนำมาใช้ อาศัยฟังคนนั้นแนะนำ คนนี้เชิญชวน อีกคนโม้ให้ฟัง ก็ยังตัดสินใจไม่ได้อยู่ดี การกำหนดคุณลักษณะที่ดีของลีนุกซ์ดิสโทรจึงเป็นเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณา คัดเลือกข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีหลักการ เราสามารถแบ่งคุณลักษณะของลีนุกซ์ดิสโทรออกได้ 5 ด้าน ดังนี้

  1. วิธีการติดตั้ง (Installation Method) ขั้นตอนการติดตั้งนั้นถือว่าเป็นด่านแรกที่จะตัดสินได้เลยว่า ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นใดเหมาะสมกับตัวเรา มีคุณภาพเป็นอย่างไร บางดิสทริบิวชั่นมีโปรแกรมช่วยให้ขั้นตอนการติดตั้งทำได้ง่ายมาก มีคำบรรยายตลอดทุกหน้าจอ แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนก็ทำได้ด้วยตนเอง แต่บางดิสโทรกลับติดตั้งยากมากขนาดทำให้นักคอมพ์ระดับ “เซียน” กลายเป็นนักคอมพ์ระดับ “ซึม” ไปได้เลยก็มี ดังนั้นคุณสมบัติด้านการติดตั้งจะสะท้อนถึงกลุ่มเป้าหมายและเทคโนโลยีของลีนุกซ์ดิสโทรนั้นอย่างเห็นได้ชัด
  2. ความง่ายในการใช้งาน (Ease of using) บางดิสโทรออกแบบมาให้ใช้งานแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) คือ เมื่อ 10 ปีก่อนเคยเป็นอย่างไรวันนี้ก็ยังคงใช้งานอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้ใช้ยากในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่บางดิสโทรก็ใช้ง่ายมาก คลิ๊กหนึ่งได้เมล์เซิร์ฟเวอร์ คลิ๊กอีกทีได้ไฟร์วอลล์ ทั้งนี้ย่อมมีข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัดแตกต่างกันไป ซึ่งเราต้องพิจารณาเองว่าแค่ไหนจึงจะมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับงานของเรา
  3. ซอฟต์แวร์ที่จัดมาให้ (Bundle Software) และวิธีการสนับสนุนซอฟต์แวร์ (Supported Software) ถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเพราะว่า หากมีเพียงระบบปฏิบัติการคงทำงานอะไรไม่ได้จำเป็นจะต้องมีโปรแกรมใช้งานต่างๆ ยูทิลิตี้ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างการใช้งานด้วย บางลีนุกซ์ดิสโทรมาพร้อมกับซอฟต์แวร์สารพัดชนิดอัดแน่นอยู่ในแผ่นดีวีดี รวมแล้วมากกว่า 3500 โปรแกรมก็มี แต่บางดิสโทรอาจมีเพียงตัวระบบปฏิบัติการล้วนๆ ส่วนโปรแกรมใช้งานต้องไปหาเอาเองหรือมีข้อจำกัดในการติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเติมในภายหลัง อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การจัดการแพคเกจซอฟต์แวร์ (Software Package) ซึ่งแต่ละดิสโทรมีระบบที่แตกต่างกัน เช่น RPM ,Emerge ,Chkinstall, Deb เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการหาโปรแกรมต่างๆ มาใช้งานของเราในอนาคต
  4. การสนับสนุนทางเทคนิคระหว่างการใช้งาน ( Technical Support ) การให้บริการแก่ผู้ใช้งานเป็นอีกภารกิจหนึ่งของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่มีความสำคัญมาก เพราะจะสะท้อนให้เห็นคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นโดยตรง การสนับสนุนนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การสนับสนุนเชิงพาณิชย์ (Commercial Support ) หมายถึง ผู้ใช้บริการจะต้องซื้อบริการในลักษณะการลงทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือเซ็นสัญญารายปีกับลีนุกซ์ดิสโทรนั้นๆ จึงจะได้รับการบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อีกประเภทหนึ่งคือ การสนับสนุนโดยชุมชนเอง (Community Support) หมายถึง กลุ่มผู้ใช้งานลีนุกซ์ดิสโทรนั้นต้องรวมตัวกันเอง ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันเองในยามที่มีปัญหาการใช้งาน ซึ่งย่อมไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เกิดขึ้น แต่คุณภาพของบริการก็ไม่สามารถรับประกันได้เช่นกัน
  5. การดำเนินงานเชิงธุรกิจ (Business) ความหมายของ Business นี้ ไม่ได้หมายถึง ตัวเงินเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่หมายถึง กลไกการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นเอง คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดและบรรลุเป้าหมายได้ หากขาดการสนับสนุนหรือผลตอบแทนที่จะนำมาหล่อเลี้ยงให้องค์กรดำรงอยู่และขับเคลื่อนต่อไปได้ ดังนั้นหากลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นใดก็ตามที่ไม่มี Business หรือไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็จะเสื่อมถอยและล้มหายไปในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ RedHat Linux ที่นำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีสินค้าและบริการอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในบรรดาลีนุกซ์ดิสโทรทั้งหมด ตัวอย่างที่ไม่ดีมีเยอะกว่ามากครับ ตั้งแต่ Mandrake Linux ที่ต้องขอ Donate เพื่อรักษาบริษัทไว้ Yoper Linux ผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ที่มาแรงและไปไวมาก คุณคงไม่อยากเปลี่ยนดิสโทรบ่อยๆ ใช้มั๊ยครับ

บุคลิกภาพเฉพาะของลีนุกซ์ดิสโทร

คุณลักษณะทั้ง 5 ด้านของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นนี้ น่าจะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกลีนุกซ์ที่เหมาะกับตัวของคุณและงานของคุณได้ อย่างไรก็ตามยังมีแง่มุมบางอย่างที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมอีกด้วย สิ่งนั้นก็คือ บุคลิกภาพเฉพาะของลีนุกซ์ดิสโทร

ตามที่เราพอจะเห็นภาพแล้วว่า แต่ละลีนุกซ์ดิสโทรก็คือ กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันสร้างระบบปฏิบัติการสำเร็จรูปของตนเองขึ้น (โดยเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้เคอร์เนลลีนุกซ์) ดังนั้นแต่ละดิสโทรย่อมมีความแตกต่างกัน มีเอกลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์แนวทางในการพัฒนาและเผยแพร่ที่แตกต่างกันออกไปตามเจตนารมณ์และศักยภาพของแต่ละกลุ่ม เมื่อเวลาผ่านไปภาพเหล่านี้ก็ชัดเจนขึ้นจนกลายเป็น “บุกคลิกภาพเฉพาะ” ของแต่ละลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นในที่สุด

จากการที่ได้รวบรวมข้อมูลตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พอสรุปบุคลิกภาพเฉพาะของบรรดาลีนุกซ์ดิสโทรที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน ดังนี้

Slackware Linux อนุรักษ์นิยมที่สุด

Slackware Linux เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่เก่าแก่มากที่สุด แต่ก็ยังสามารถครองความนิยมไว้ได้ในอันดับต้นๆ อย่างเหนียวแน่น บุคลิกภาพสำคัญของ Slackware คือ “Conservative” หรืออนุรักษ์นิยมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด สังเกตจากเว็บไซต์สีขาวดำเรียบๆ ไม่เน้นสีสรร มีรูปแบบการติดตั้งและใช้งานแบบเท็กซ์โหมดเป็นหลัก ถึงแม้จะมีระบบจัดการซอฟต์แวร์แพคเกจเป็นของตัวเองแต่การติดตั้งซอฟต์แวร์ก็ยังมีความใกล้เคียงกับการคอมไพล์โปรแกรมเองอย่างมาก ถ้าคุณชอบสภาพแบบเดิมๆ เหมือนย้อนไปยุคเริ่มต้นของลีนุกซ์ เน้นการใช้งานแบบตรงไปตรงมา พร้อมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้วยความท้าทาย และลงมือจัดการทุกๆ ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้วล่ะก็ ลีนุกซ์ดิสโทรเก๋าๆ อย่าง Slackware นี่แหละคือเพื่อนตายของคุณ

Mandrake Linux ติดขอบเทคโนโลยี

Mandrake Linux ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อ Mandriva Linux เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่มีบุคลิกที่สุดสำอาง เริ่มพัฒนามาพร้อมๆ กับ Red Hat Linux แต่มีแนวทางเป็นของตนเอง และไม่คิดตามหลังใคร มิหนำซ้ำยังหาญกล้านำเทคโนโลยีใหม่ๆ มารวมไว้ก่อนดิสโทรอื่นเสมอๆ จนทำให้มีหมายเลขเวอร์ชั่นหนีห่างจาก Red Hat ชนิดไม่เห็นฝุ่น ความที่เน้น Cutting-Edge Technology เช่นนี้มากจนเกินไป จนลืมให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการจึงทำให้ขาดทุนและเกือบต้องเลิกกิจการไป หลังจากได้รับการบริจาคเงินช่วยเหลือและต่อมารวมกิจการกับ Connectiva Linux จนเป็น Mandriva Linux แล้ว ลีนุกซ์ดิสโทรนี้ก็ยังคงมีลักษณะที่เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำหน้าคู่แข่งเสมอมา ถ้าคุณชอบความล้ำสมัย มีสีสรร และรูปลักษณ์สวยหมดจด Mandriva Linux นี่แหละ..ใช่เลย

Red Hat / Fedora Core Linux ยึดเดินทางสายกลาง

Red Hat เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่มีความมั่นคงในการดำเนินงานมากที่สุด ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ตรงกันข้ามกลับครองความยิ่งใหญ่ในธุรกิจโอเพ่นซอร์ส จนมีการเปรียบเทียบว่า ถ้าไอบีเอ็มเป็นยักษ์สีฟ้าในวงการคอมพิวเตอร์ Red Hat ก็เป็นยักษ์สีแดงของวงการโอเพ่นซอร์ส เหตุที่ Red Hat มีสถานภาพเช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ผมเชื่อว่าเกิดจากบุคลิกภาพเฉพาะที่เด่นชัดของ Red Hat Linux คือ การเดินทางสายกลาง กล่าวคือ เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นRed Hat Linux จะไม่จับมาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตนเองและรีลีสเวอร์ชั่นใหม่เร็วจนเกินไป แต่จะทิ้งระยะห่างพอสมควรจนกระทั่งแน่ใจจึงจะโปรโมตเทคโนโลยีนั้นอย่างเต็มตัว

Red Hat Linux มีความเป็นธุรกิจการค้าอย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NYSE ด้วยชื่อ Symbol ใหม่ คือ RHT ล่าสุดยังติดอันดับ Nasdaq-100 อีกต่างหาก ถ้าสำรวจดูสินค้าและบริการรวมทั้งการจัดฝึกอบรมและประกาศนียบัตรรับรองความสามารถด้านลีนุกซ์ RHCE ที่มีศูนย์อยู่ทั่วโลก คงรับประกันความมั่งคั่งและมั่นคงของลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นนี้ได้เป็นอย่างดี

Red Hat Linux ในปัจจุบันได้แบ่งสายการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ Red Hat Enterprise Linux (RHEL) ซึ่งเป็นสินค้า (Products) กับ Fedora Core Linux ซึ่งเป็นโครงงานพัฒนาที่ Red Hat ให้การสนับสนุน (Projects) โดย RHEL จะรีลีสรุ่นใหม่ทุกๆ ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ส่วน Fedora Core จะมีลักษณะคล้ายงานวิจัยพัฒนาที่ชุมชนโอเพ่นซอร์สจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน (ใช้ฟรี) จึงมีความทันสมัยกว่าและออกรุ่นใหม่ทุกๆ 6 เดือน เทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับแล้วใน Fedora Core จะถูกนำไปปรับปรุงและปรากฏใน RHEL รุ่นถัดไปในที่สุด

ความแตกต่างระหว่าง RHEL กับ Fedora Core Linux ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ RHEL เป็นสินค้าที่ต้องซื้อพร้อมสิทธิ์ในการใช้งานและขอรับการสนับสนุนหลังการขาย ส่วน Fedora Core สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องของประสิทธิภาพ RHEL จะมีการปรับแต่ง (Optimization) ให้ทำงานในฐานะเซิร์ฟเวอร์โดยเฉพาะในขณะที่ Fedora Core มีคุณสมบัติที่หลากหลายสำหรับงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานด้านเซิร์ฟเวอร์ เดสทอป หรือด้านมัลติมีเดีย สุดท้ายในเรื่องของการรับประกันคุณภาพ RHEL จะผ่านกระบวนการทดสอบและรับรองความสามารถ (Test and Certified) จากผลิตภัณฑ์ชั้นนำของพาร์ทเนอร์ของ Red Hat เช่น IBM ,Oracle ,Sun ,HP ว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ Fedora Core ไม่มีการรับรองดังกล่าว

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Red Hat Linux จะเป็นลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่เป็นที่นิยมจากผู้ใช้งานทั่วโลก และถูกนำไปพัฒนาเป็นลีนุกซ์ดิสโทรอื่นๆ อีกหลายดิสโทร เช่น Linux TLE ,Turbo Linux ,OpenNA Linux เป็นต้น จนรูปแบบการติดตั้งและใช้งาน Red Hat Linux ได้กลายเป็นที่คุ้นเคยโดยเฉพาะในเมืองไทย ถ้าคุณต้องการใช้งานลีนุกซ์ที่มีเพื่อนร่วมวงการจำนวนมากและมีผู้พัฒนาเป็นองค์กรที่มั่นคง Red Hat Linux คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ณ เวลานี้

Debian Linux ความเสถียรที่ท้าให้พิสูจน์

Debian Linux เป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาลีนุกซ์และดำรงรักษาความเป็น Free Software ไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด คุณจะไม่มีทางเห็นการจำหน่าย Debian Linux ในเชิงการค้าจากองค์กรนี้อย่างเด็ดขาด ดังปรากฏใน Social Contract ในเว็บไซต์ของ Debian (http://www.debian.org) โดยที่มาของชื่อของลีนุกซ์ดิสโทรนี้มาจากผู้ก่อตั้งคือ Deb และ Ian Murdock

เช่นเดียวกับ Red Hat , Debian เป็นดิสโทรที่พัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างให้เกิดขึ้นในวงการลีนุกซ์เป็นอย่างมาก เช่น มีระบบจัดการซอฟต์แวร์แพคเกจ ระบบการติดตั้ง และยูทิลิตี้สำคัญๆ เป็นเทคโนโลยีของตนเอง จนกลายเป็นรูปแบบการใช้งานที่เป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานของการใช้งานลีนุกซ์เช่นเดียวกับกลุ่ม Red Hat ได้สร้างไว้ ภาพดังกล่าวนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อข้อสอบ Linux Certified ของ LPI ได้แบ่งข้อสอบออกเป็น 2 ชุด คือ ข้อสอบสำหรับผู้ชำนาญ Red Hat กับข้อสอบสำหรับผู้ชำนาญ Debian ให้เลือกกันอย่างเด็ดขาดไปเลย

บุคลิกภาพเฉพาะของ Debian Linux อยู่ที่ความเสถียร (Stable) ของซอฟต์แวร์ทั้งหลายที่เป็นผลงานขององค์กรนี้ ทั้งตัวระบบปฏิบัติการเองและซอฟต์แวร์แพคเกจที่มีมากกว่า 15490 รายการ ความพิถีพิถันในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ทุกตัวให้มีความเชื่อถือได้มากที่สุดนี้เอง ทำให้ Debian มีรีลีสที่ Stable จริงๆ ออกมาช้ากว่าดิสโทรอื่นๆ มาก ซึ่งรุ่นล่าสุดขณะเขียนบทความนี้ คือ 3.1 เท่านั้น ในขณะที่ลีนุกซ์ดิสโทรอื่นๆ ทิ้งห่างไปถึงเวอร์ชั่น 10 กว่ากันแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นหาก Debian ไม่ฟรีจริง ไม่ดีจริง คงไม่ถูกนำไปเป็นฐานในการพัฒนาลีนุกซ์ดิสโทรอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ Ubuntu ,MEPIS ,KNOPPIX ซึ่งล้วนเป็นลีนุกซ์ดิสโทรแนวหน้าทั้งสิ้น

Debian Linux จึงมีลักษณะเป็นดิสโทรพื้นฐานที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้งานได้อเนกประสงค์ มีรูปแบบการใช้งานแบบค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่นเดียวกับ Slackware เปิดโอกาสให้คุณได้ล้วงลึกลงไปได้ทุกซอกทุกมุม ถ้าคุณชอบสวมบท “ผู้สร้าง” มากกว่าที่จะเป็นแค่ “ผู้ชม” ขอให้ดาวน์โหลด Debian Linux มาติดตั้งได้เลยครับ ต้องการเนื้อที่แค่ซีดีรอมแผ่นเดียวเท่านั้น

SuSE Linux หรูหรามีระดับ

SuSE เป็นลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมัน ดินแดนที่มีความตื่นตัวเรื่องซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมากที่สุดในโลก การเดินทางของ SuSE นั้นยาวไกลพอๆ กับลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่ได้แนะนำไปแล้วทุกตัว และได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ต้องได้รับการคาราวะจากชาวลีนุกซ์มากมายหลายชิ้นงาน สมกับเป็นลีนุกซ์ที่มาจากศูนย์กลางเทคโนโลยีแทบทุกแขนง ได้แก่ สุดยอดระบบ Audio สำหรับลีนุกซ์ที่ชื่อว่า ALSA Project ที่ทำให้ค้นพบข้อยุติในปัญหาการใช้ระบบเสียงในลีนุกซ์ไปตลอดกาล แนวความคิดการใช้งาน ติดตั้งและคอนฟิกระบบทั้งหมดได้ด้วยเครื่องมือหลักเพียงตัวเดียวที่ชื่อว่า YaST (Yet Another Setup Tools)

ความประณีตสวยงามที่แสดงผลบนขั้นตอนติดตั้งและเดสทอปของ SuSE Linux อาจจะทำให้หลงเสน่ห์ระบบปฏิบัติการสัญชาติเยอรมันนี้ได้ทันทีที่ได้สัมผัส และด้วยคุณภาพที่เชื่อถือได้ประกอบกับเป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมในแถบยุโรป จึงทำให้ SuSE Linux ได้รับการประกาศให้เป็นระบบปฏิบัติการในหน่วยงานภาครัฐของกลุ่มประเทศยุโรป หลังจากนั้นไม่นานนัก Novell Inc. ได้เข้าซื้อกิจการของ SuSE จึงทำให้ปัจจุบัน SuSE Linux ได้กลายเป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่เป็นมีอนาคตที่สวยงามพอๆ กับเดสทอปของตนเอง โดยมี OpenSUSE 10.2 เป็นโปรเจคสำหรับผู้ใช้ทั่วไป (Community Release) ได้ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับ Novell

ถ้าความสวยงาม ใช้งานง่าย และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นสิ่งที่คุณต้องการแล้วล่ะก็ OpenSUSE เป็นลีนุกซ์ดิสโทรที่ตอบสนองได้ครบถ้วนที่สุด นอกจากนี้ SuSE ยังมีชื่อเสียงมากในเรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้อย่างยอดเยี่ยม และผลงานที่โดดเด่นน่าจับตามากที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น AppArmor ระบบรักษาความปลอดภัยแบบ Name-based Security ที่จะมาเป็นคู่แข่งของ SELinux พูดถึง SuSE Linux ทีไรก็ทำให้นึกถึงรถยนต์หรูค่ายเยอรมันทุกที

แนวทางการเลือกลีนุกซ์ดิสโทร

คงจะพอเห็นภาพกันบ้างแล้วนะครับว่า ลีนุกซ์แต่ละดิสทริบิวชั่นนั้น ต่างก็มีบุคลิกภาพเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป เมื่อต้องเลือกใช้งานก็ต้องพิจารณาในหลายๆ ด้านไม่ต่างอะไรกับการเลือกบ้าน เลือกรถยนต์ หรือสินค้าต่างๆ สำหรับแนวทางที่จะเลือกใช้งานลีนุกซ์นั้น อาจแบ่งได้ 3 แนวทางใหญ่ๆ ครับ

  1. ยึดตัวเราเองเป็นหลัก หลักการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ลองทำความคุ้นเคยกับลีนุกซ์มาบ้างแล้ว โดยถือคติที่ว่า ตนเป็นที่พึงแห่งตน ถ้าเราถนัดที่จะใช้ลีนุกซ์ดิสโทรไหนก็จงฝึกฝนวิทยายุทธ์ ให้เชี่ยวชาญ ถึงใครจะว่าอย่างไรก็อย่าไปสนใจ การเปลี่ยนดิสโทรบ่อยๆ จะทำให้เราเสียเวลาไม่ใช่น้อยที่จะศึกษาลองผิดลองถูก เชื่อมั่นเถอะครับว่า ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใดก็ตามทุกลีนุกซ์ดิสโทรทำงานได้ดีพอๆ กันทั้งหมด จะร้ายหรือดีก็อยู่ที่ตัวเราเองจะกุมบังเหียนมันได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญอยู่ที่ชั่วโมงบินของเราเองเท่านั้น
  2. เลือกดิสโทรที่สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน องค์กรที่เราทำงานอยู่กำหนดนโยบายอย่างไร ผู้ดูแลระบบก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ดูแลระบบหลายๆ ท่านทำให้ทราบนโยบายที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ไม่มีนโยบายอะไรแอดมินจะทำอย่างไรใช้อะไรก็ได้ขอให้งานสำเร็จไม่มีปัญหาก็พอแล้ว บางหน่วยงานเข็ดขยาดกับการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ของลีนุกซ์บางดิสโทรหันไปเลือกดิสโทรที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมก็มี บางบริษัทถูกกำหนดโดยแอปพลิเคชั่นจากบริษัทแม่จากเมืองนอกมาแล้วว่าต้องใช้ดิสโทรนี้เท่านั้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือส่วนใหญ่จะเน้นว่าฟรีและฝ่ายเทคนิคในหน่วยงานสามารถดูแลได้เอง
  3. เลือกจากกลุ่มดิสโทรที่ใกล้เคียงกัน หลักการนี้ผู้เริ่มต้นใหม่ควรพิจารณาให้ดี เพราะถ้าสังเกตดูจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าลีนุกซ์ดิสโทรแต่ละรายจะมี “สไตล์” หรือ “บุคลิกภาพเฉพาะ” ต่างกันไป 3-4 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นตระกูล Red Hat based ได้แก่ RHEL, Fedora Core, Mandriva และ OpenSUSE ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีโครงสร้างและวิธีการใช้งานใกล้เคียงกัน กลุ่มที่สองเป็นตระกูล Debian based ได้แก่ Debian ,Ubuntu, Knoppix เป็นกลุ่มที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย และกลุ่มสุดท้ายเป็นพวกที่มีผู้ใช้งานน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก ได้แก่ Slackware, Gentoo, Yoper เป็นกลุ่มที่มีวิธีใช้งานแปลกแตกต่างออกไปมากแต่ก็เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาในเบื้องลึกหรือใช้งานเฉพาะด้าน

เลือกลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นให้เหมาะกับตัวคุณ

เมื่อได้แนวทางอย่างคร่าวๆ แล้ว ก่อนจะฟันธงลงไปว่าจะเลือกลีนุกซ์ดิสโทรใดเป็นกระบี่คู่ใจ ก็ขอให้ย้อนกลับไปเช็คกับ “คุณลักษณะที่ดีของลีนุกซ์ดิสโทร” ที่ได้แนะนำไปแล้ว เริ่มตั้งแต่

  1. คุณสมบัติด้านการติดตั้ง มีการติดตั้งที่สะดวกสามารถปรับแต่งได้ง่ายไม่มีปัญหากับฮาร์ดแวร์ของเราและใช้เวลาติดตั้งอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น Red Hat มีโปรแกรมติดตั้งแบบกราฟฟิก ส่วน Debian ใช้เวลาติดตั้งน้อยกว่ามากแต่มีหน้าจอแบบตัวอักษร (Text Mode) ที่ใช้ยากกว่า
  2. ความง่ายในการคอนฟิก อาจจะลองอ่านเอกสารคู่มือของแต่ละดิสโทรว่าค่ายไหนที่เราอ่านแล้วเข้าใจสามารถคอนฟิกใช้งานได้ง่ายตรงตามสไตล์ของเรา เช่น Red Hat มีคู่มือในรูปแบบไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดอ่านได้ฟรี ในขณะที่ SuSE มีโปรแกรม YaST ที่ช่วยในการเซ็ตค่าต่างๆ
  3. จำนวนซอฟต์แวร์ที่สนับสนุน สำรวจดูให้แน่ใจจากเว็บไซต์ของแต่ละดิสโทรว่ามีซอฟต์แวร์มากพอที่จะติดตั้งใช้งานภายหลังได้อย่างไม่ติดขัด เช่น Fedora Core มีโปรเจค Fedora Extras รองรับโปรแกรมแอปพลิเคชั่นที่เพิ่มเติมขึ้น ส่วน Debian มีกลไกการโหลดโปรแกรมผ่านอินเตอร์เน็ตมาติดตั้งเป็นธรรมชาติของมันเลยทีเดียว
  4. การสนับสนุนทางเทคนิค การมีที่ปรึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายๆ ดิสโทรไม่ประสบความสำเร็จเพราะหาเพื่อนร่วมทางไม่ได้นั่นเอง สำหรับในเมืองไทยถ้าโพสต์ถามเกี่ยวกับ Red Hat น่าจะได้คนมาช่วยเหลือเยอะกว่าถามเรื่อง Debian หรือ Slackware
  5. การทำธุรกิจของลีนุกซ์ดิสโทร การที่เราเลือกใช้งานลีนุกซ์ดิสโทรที่มีบริษัทใหญ่หนุนหลังย่อมอุ่นใจกว่าดิสโทรที่เป็นองค์กรอิสระ แต่บางท่านอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ชุมชนโอเพ่นซอร์สมีวิธีที่จะคัดค้านการแปลงสภาพจาก Free Software ไปเป็น Commercial Software ดังเห็นได้จากกรณีของ Fedora Core และ OpenSUSE เป็นข้อยืนยันได้ดี

ทุกวันนี้ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นหน้าใหม่ยังคงแจ้งเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบและจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป รอให้เราได้ค้นหาและทดลองใช้อย่างไม่มีสิ้นสุด แต่ลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นใดจะเป็นดิสโทรที่ดีที่สุด คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีเท่ากับตัวคุณเอง

Tags:

linuxthailand