ปี 2006 โลกใบนี้จะหมุนด้วยพลังโอเพ่นซอร์ส

Linux

ปี 2006 โลกใบนี้จะหมุนด้วยพลังโอเพ่นซอร์ส

เกือบ 9 ปีที่ผ่านมา

3 min read

บทความนี้มีต้นฉบับมาจากเว็บ linuxthailand.org ซึ่งตอนนี้เข้าไม่ได้ ผมเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์เลยขอนำมาอัพไว้ที่เว็บนี้ เผื่อท่านใดสนใจที่จะอ่านมัน ซึ่งหากทีมงานหรือเจ้าของบทความเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมยินดีนำบทความนี้ออกให้ครับ

หลายปีที่ผ่านมาประชากรชาวโอเพ่นซอร์สเป็นเพียงกลุ่มนักเขียนโปรแกรมที่ทำงานที่ตนเองรักอยู่หลังจอคอมพิวเตอร์อย่างเงียบๆ ไม่ค่อยจะใส่ใจกับสังคมภายนอกเท่าไรนัก จนวันหนึ่งผลงานของพวกเขาเหล่านั้นเริ่มปรากฏต่อสาธารณะชนในรูปของฟรีซอฟต์แวร์ ( Free Software ) ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้อย่างเสรี ไม่เฉพาะตัวโปรแกรมที่รันได้เท่านั้น แต่รวมถึงโปรแกรมต้นฉบับ ( Source Code ) ที่เปรียบเสมือนกับ “พิมพ์เขียว” ของโปรแกรมนั้นๆ อีกด้วย ในขณะที่ผลงานที่มีคุณภาพของพวกเขาเหล่านี้เริ่มเป็นที่ประจักษ์ การเปิดเผยซอร์สโค๊ดยิ่งเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้เหล่าโปรแกรมเมอร์หน้าใหม่ก้าวเข้ามาร่วมงานมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดเป็นองค์กรอย่างไม่เป็นทางการที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่ไม่แพ้บริษัทใหญ่ๆ เลยทีเดียว จำนวนโปรเจคที่เกิดขึ้นตามแนวทางของโอเพ่นซอร์สได้เพิ่มขึ้นอย่างเร็ว ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าขณะนี้มีโปรเจคโอเพ่นซอร์สเป็นจำนวนเท่าไร ทุกวันนี้เราจึงเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า Linux ,Apache ,SAMBA ,Open Office ,Firefox ,Thunderbird และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ถูกนำมาเป็นชื่อหรือมาสคอตของซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส การเดินทางของซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเหล่านี้จะเป็นไปในทิศทางใดเป็นสิ่งที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะขอแยกประเด็นมาวิเคราะห์กันซัก 2 ประเด็น

โอเพ่นซอร์สในฐานะที่เป็นองค์กร

ในอดีตที่ผ่านมาโลกของเราได้ก้าวพ้นยุคของสังคมอุตสาหกรรมการผลิต มาสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยสารสนเทศและการสื่อสาร และกำลังมุ่งสู่สังคมแห่งความรู้ ( Knowledge Based Society ) ซึ่งพลังขับเคลื่อนที่เป็นส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ เทคโนโลยีซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารนั่นเอง เทคโนโลยีเหล่านี้โดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์มักจะเป็นผลผลิตจากบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อแข่งขันกันพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ออกมาให้พวกเราได้ใช้งานกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือผู้ใช้ตามบ้านจะต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้กันทั้งนั้น ปรากฏการณ์ที่เริ่มฉายแววเด่นชัดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่า กลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส (ที่ทวีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง) กับบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของโลก (ที่นับวันจะลดลงจนนับจำนวนได้ ) เริ่มมีแนวโน้มจะเข้ามาร่วมธุรกิจกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากข่าวในปัจจุบันที่มีความหลากหลายของรูปแบบ (model) ที่เกิดเป็นความเกี่ยวข้องกันระหว่างซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สกับองค์กรธุรกิจ เช่น เริ่มมีโปรเจคโอเพ่นซอร์สที่มาจากค่ายซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ ปรากฏเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ Acrobat Reader 7 for Linux และมีแนวโน้มที่จะปรากฏตัวโปรแกรมอื่นๆ ของค่ายนี้ตามมาอีกในเร็วๆ นี้ โปรแกรมเขียนแผ่น CD/DVD ระดับสุดยอดอย่าง Nero Burning ROM เวอร์ชั่นสำหรับลีนุกซ์ ก็มีแนวทางนี้เช่นกันถึงแม้จะยังไม่ชัดเจนนักก็ตาม ทางฝ่ายกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีชั้นเชิงทางธุรกิจที่น่าประทับใจและมีช่องทางการตลาดใหม่ๆ ในการ “เสนอขาย” ไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน จนฝากฝั่งบริษัทซอฟต์แวร์ต้องตะลึง ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้พัฒนาลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดรายหนึ่ง ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลงานของตนเองโดยเสนอโปรเจค OEM version ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานใดก็ตามที่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ติดตั้งอัตโนมัติที่บูตได้จากซีดีรอมสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าของตนเองได้ เช่น อาจนำไปผลิตเป็นซีดีรอมช่วยลูกค้าติดตั้งซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ด้วยตนเอง เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปแล้วการอนุญาติให้มีการนำซอฟต์แวร์ไปใช้โดยอิสระเช่นนี้ก็มีกันมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ประกาศออกมาเป็น Business Model อย่างชัดเจน ( โดยใช้คำว่า OEM เช่นนี้ ) นับว่าน่าจับตามากและเชื่อว่าจะได้เห็นช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน วงจรของการให้การสนับสนุนกันระหว่างนักพัฒนา องค์กรหรือบริษัทซอฟต์แวร์ และประชาคมของผู้ใช้งานโอเพ่นซอร์สยังคงมีให้เห็นเป็นความสัมพันธ์กันที่ซับซ้อนขึ้น หลากหลายวิธีมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากความเป็นอิสระ ( Freedom ) ตามแนวทางของโอเพ่นซอร์สนั่นเอง ถึงแม้แนวทางนี้จะไม่ได้อาศัย “เงิน” เป็นตัวตั้งก็ตาม แต่ผลสุดท้ายก็ทำให้เกิดผลิตภาพ ( Productivity ) แก่สังคมโดยส่วนรวมได้ในที่สุด ตัวอย่างง่ายๆ ได้แก่ การเปิดเผยรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลของไฟล์ประเภท PDF ของบริษัท Acrobat การเผยแพร่ API และซอฟร์สโค๊ดเพื่อการเชื่อมโยงการทำงานกับเครื่องมือค้นหาในเว็บ ( Search Engine ) ของบริษัท Google หรือแม้แต่การเข้าไปสนับสนุนโปรเจคโอเพ่นซอร์สที่ปรากฏเป็นข่าวแทบทุกๆ 2 - 3 เดือนตลอดปี 2004-2005 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าในปี 2006 นี้วงการซอฟต์แวร์จะต้องเต็มไปด้วยข่าวการจับคู่พันธมิตรระหว่างบริษัทซอฟต์แวร์กับกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส หรือไม่ก็เป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ตามแนวทางของโอเพ่นซอร์ส ดังที่เราได้เห็นการเปลี่ยนชื่อของ Mandrake เป็น Mandriva การเปลี่ยนโลโก้ของ Fedora Project การออกเวอร์ชั่นใหม่แบบถี่ยิบของ Novell SuSE Linux ทีนี้คุณลองคิดดูซิว่าโปรเจคใดจะเป็นข่าวรายต่อไป หากเป็นเช่นนี้หมายความว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะไม่แจกฟรีอีกต่อไปแล้วหรือ? ตามความเห็นของผู้เขียนเองไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้นครับ และเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะการเข้ามาสนับสนุนขององค์กรธุรกิจไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็น Free Software ไปได้ มีเหตุผลสนับสนุนสามประการครับ ประการแรกทุกๆ โปรเจคมีข้อตกลงด้านสิทธิความเป็นเจ้าของและข้อกำหนดในวิธีการเผยแพร่ไว้อย่างชัดเจน ที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ไลเซ่นต์ ( License ) ซึ่งมีผลทางกฏหมายทีเดียวนะครับ เช่น GNU/GPL หรือ BSD เป็นต้น ประการต่อมาคือ รากฐานของโปรเจคแต่ละโปรเจคเกิดขึ้นและเติบโตมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ( Community ) นั่นหมายถึงการเป็นทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมครับ การที่จะนำไปทำการค้าสามารถทำได้แต่จะต้องคงรักษาการแจกจ่ายฟรีไว้เช่นเดิมด้วย มิฉะนั้นจะทำให้แรงขับเคลื่อนการพัฒนาหยุดลงทันที เหตุผลประการสุดท้ายคือ มีบริษัทที่เคย “ลองของ” มาแล้วครับ ซึ่งทำให้ Community ไม่พอใจเกิดกระแสต่อต้าน และในที่สุดก็ต้องยอมปรับเปลี่ยนแนวทางจากการค้าล้วนๆ กลับมาสู่สภาวะปรกติหรือไม่ก็เผยแพร่ซอฟต์แวร์นั้นๆ ออกมาเป็น Community Edition บ้าง Free Version บ้าง ได้แก่ RedHat ,SuSE ,Qmail และอื่นๆ อีกเยอะครับที่ได้เคยท้าทายพลังของ Community มาแล้ว แนวโน้มอีกด้านหนึ่งคือ กลุ่มองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เริ่มก่อตั้งเพิ่มขึ้น ( มักจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐของประเทศนั้นๆ ) และมีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ในช่วงปี 2005 จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดผลกระทบบางอย่าง ( ซึ่งควรจะเป็นไปในทางบวก ) นับจากปีนี้เป็นต้นไป เช่น Ubantu Foundation ,Center of International Cooperation for Computerization (CICC) ,Free Desktop Foundation เป็นต้น ภาพอนาคตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เราจะได้เห็นการหลอมรวมกันระหว่างกลุ่มคนที่ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานซอฟต์แวร์จากเบื้องหลังโลกไซเบอร์ กับกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์ ภายใต้การกำกับควบคุมในด้านมาตรฐานและสิทธิประโยชน์จากองค์กรมหาชนที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ

โอเพ่นซอร์สในเชิงเทคโนโลยี

ผลจากความร่วมมือหรือการสนับสนุนดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการพัฒนาที่เร็วขึ้นกว่าที่เป็นมา เนื่องมาจากเงินทุนที่หลั่งไหลมาจากผู้สนับสนุนนั่นเอง ภาพดังกล่าวนี้เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้วดังจะเห็นได้จากกลุ่มนักพัฒนาโอเพ่นซอร์สที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ราย เช่น Apache ที่มีโครงการย่อยๆ ทยอยออกมาไม่ขาดสายในระยะ 4-5 ปีมานี้ อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ภายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สหลายต่อหลายโครงการที่ต้องประสบกับอุปสรรคทำให้เกิดความล่าช้า หรือต้องเลื่อนกำหนดการบางอย่างออกไป เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเคอร์เนลลีนุกซ์ ที่หาข้อตกลงการกำหนดหมายเลขเวอร์ชั่นของเคอร์เนลไม่ลงตัวเท่าไรนัก เกิดเวอร์ชั่นย่อยหรือ Patch Number ขึ้นทำให้ยากต่อการจัดการ ปัญหาทีมผู้บริหารโครงการพัฒนาเคอร์เนลถึงแม้จะเป็นความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ส่งผลต่อการปรับปรุงเคอร์เนลโดยรวมได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้กระทั่งดิสทริบิวชั่นใหญ่อย่าง Fedora Core 5 ก็ยังต้องเลื่อนการรีลีสออกไปเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงตัวแปรที่อยู่นอกเหนือจากความสามารถในเชิงเทคนิคที่ส่งผลต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เช่นกันถึงแม้จะมีเทคโนโลยีระบบควบคุมเวอร์ชั่นที่มีประสิทธิภาพก็ตาม เทคโนโลยีที่กำลังถูกนำมาก่อร่างสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ Wiki ซึ่งเป็นระบบ Centralize Networking Documentation ที่เหมาะกับเครือข่ายนักพัฒนาและผู้ใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเป็นอย่างมาก ล่าสุด http://linux-net.osdl.org ได้เริ่มเปิดให้บริการเอกสารคู่มือต่างๆ แล้ว เชื่อว่าเครือข่ายเอกสารออนไลน์จะเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว MySQL 5.0 ระบบฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์สที่เพิ่งรีลีสออกมา พร้อมคุณสมบัติระดับเอนเตอไพร์สน่าจะเป็นพระเอกในกลุ่มซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลต่อไป ด้วยมาตรฐาน Advanced SQL 2003 ที่สนับสนุน XML เครื่องมือแบบกราฟฟิกที่ช่วยในการย้ายระบบจาก Oracle ,Microsoft SQL Serve ,Microsoft Access และระบบอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น เครื่องมือบริหารจัดการแบบรีโมต และชุดของ Database Driver ที่ครบถ้วน (สนับสนุน .NET ) และแน่นอนว่ายังคงดาวน์โหลดได้ฟรีในเวอร์ชั่น GPL เช่นเดิม ด้านความปลอดภัย SELinux จะโดดเด่นยิ่งขึ้นและเป็นที่รู้จักในระดับผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยเครื่องมือช่วยเซ็ตอัพนโยบายความปลอดภัยที่ใช้ง่ายกว่าเดิมมากขึ้น ในอินเทอร์เฟสแบบกราฟฟิก คุณจะสามารถคลิ๊กเลือกได้ว่าต้องการให้บริการใดบ้างมีความปลอดภัยแค่ไหน ถ้าไม่อยากรอนานรีบดาวน์โหลด Fedora Core 5 มาลองใช้งานได้เลย สำหรับเทคโนโลยี Virtual System หรือ Virtualization (การทำให้ระบบ x86 สนับสนุนการรันระบบปฏิบัติการอื่นหลายๆ ตัวโดยจัดสรรสภาพแวดล้อมแยกจากกันโดยอิสระ ) แนวโน้มของ Xen ยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง RedHat Enterprise Linux 4 ( รวมทั้ง RHEL 5 ที่จะตามมา ) ได้นำมาเป็นฟีเจอร์หลักและเชื่อว่าจะแกร่งพอที่จะต่อกรกับ OpenSolaris หรือ Novell ได้สบายมาก ท่านสามารถสัมผัส Xen ได้จาก Fedora Core 4 หรือ 5 ที่กำลังจะรีลีสออกมาภายในต้นปีนี้ หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ Xen ได้ที่ http://www.xensource.com

สำหรับลีนุกซ์ดิสทริบิวชั่นที่ต้องจับตาหากอาศัยข้อมูลจากผู้ใช้ระดับกลางทั่วไปแล้ว Ubuntu ยังครองความนิยมไม่ลดน้อยลงมีแต่จะเติบโตยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ารากฐานที่แท้จริงนั้นก็คือ Debian Linux ที่มีสโลแกนการพัฒนาว่า Vary Slowly but Vary Surely นั่นเอง รองลงมาในระดับเซิร์ฟเวอร์ในนาทีนี้ต้องยกให้ CentOS ซึ่งเป็น RHEL clone ที่ลงตัวที่สุดในเวลานี้ สำหรับ Fedora Core ก็ยังคงรั้งอันดับสามจากอันดับการโหวตของ linuxjournal.com ถึงจะมีความผิดพลาดจนนับไม่ถ้วนใน Fedora Core 4 แต่สำหรับ Fedora Core 5 แล้วเชื่อว่าจะต้องกลับมาครองใจผู้ใช้ได้เช่นเดิมอย่างแน่นอน สืบเนื่องจากความนิยมใช้งานลีนุกซ์เป็นเซิร์ฟเวอร์ชนิดต่างๆ ในองค์กร ทำให้เกิดความต้องการเพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการฐานข้อมูลรายชื่อผู้ใช้งานในระบบที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นจำนวนมากๆ โดยมีการบริหารจากศูนย์กลาง ระบบ Directory Service ทั้งแบบโอเพ่นซอร์สและคอมเมอร์เชียลจึงได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว จึงเป็นซอฟต์แวร์อีกกลุ่มหนึ่งที่จะเริ่มนำมาใช้กันอย่างจริงจังมากขึ้น ซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจได้แก่ RedHat Directory Server ,OpenLDAP และ WinBind รวมทั้งซอฟต์แวร์อำนวยความสะดวกในการจัดการบัญชีรายชื่อ และโมดูลการเชื่อมต่อใช้ข้อมูลร่วมกันแบบข้ามแพลตฟอร์มอีกด้วย มาพูดถึงแอปพลิเคชั่นระดับเดสทอปกันบ้าง โดยภายรวมแล้วช่วงปี 2005 ที่ผ่านมามีแอปพลิเคชั่นหลายตัวที่ถือว่ามีเสถียรภาพด้านการตอบสนองการใช้งานที่ดีและนิ่งแล้ว ต่างจากความรู้สึกในอดีตที่ผ่านมาที่การใช้งานแอปพลิเคชั่นในระดับเดสทอปนี้มักมีอาการ “ขัดใจ” ผู้ใช้อยู่มาก จึงเชื่อว่าในปีหน้านี้เราจะได้เห็นแอปพลิเคชั่นที่น่าใช้ทยอยออกมามากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ตัวซอฟต์แวร์ด้านการแสดงผลกราฟฟิก คือ Xorg ที่ได้รับการพัฒนาไปอย่างมากหลังจากได้เปลี่ยนใช้โอเพ่นซอร์สโมเดลใหม่โดยจัดระบบให้มีความเป็นโมดูลลาร์มากขึ้นจึงมีความอ่อนตัวในการพัฒนาและผนวกรวมคุณสมบัติการแสดงผล 3 มิติเข้าไปเพื่อให้เกิดความเร็วสูงขึ้น

ถัดจากระบบ X Window System คงต้องจับตาดูฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เพิ่งรีลีสสดๆ ร้อนๆ ของ Gnome 2.12 ที่มาพร้อมกับแนวคิดสูงสุดคืนสู่สามัญ คือ มีความเรียบง่ายแต่มีคุณสมบัติใหม่ๆ ที่โดดเด่นมากคือโปรแกรมไฟล์แมนเนเจอร์ Nautilus ที่ทำงานแบบอเนกประสงค์จริงๆ มีมุมมองสะอาดตา ปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ ใช้งานแบบ Drag and Drop ได้กับไฟล์แทบทุกชนิด เปิดไฟล์มัลติมีเดียได้หลายฟอร์แมต นอกจากนี้คุณสามารถเขียนซีดีรอมได้โดยตรงจากหน้าต่างไฟล์แมนเนเจอร์นี้ สำหรับแอปพลิเคชั่นอื่นๆ เชื่อว่าจะมีซอฟต์แวร์หลักๆ ที่สนองความต้องการได้ครบถ้วน สามารถเปิดไฟล์ได้ครบทุกฟอร์แมตภายในไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ความบันเทิงจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เช่น สื่อบันทึกข้อมูล การเชื่อมต่อกับกล้องดิจิตอล การใช้เว็บแคม เป็นต้น

หันกลับมามองในบ้านเราบ้าง

ช่วงปี 2005 ที่ผ่านมาในบ้านเรามีความตื่นตัวเกี่ยวกับลีนุกซ์และซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด งานนิทรรศการหรือการประชุมเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สมีน้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่เด่นๆ ก็มีแต่โครงการ “จันทรา” เท่านั้นที่มีการประชาสัมพันธ์ชนิด “เข้าถึง” ประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากกิจกรรมในลักษณะต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาของกลุ่มผู้ใช้งานลีนุกซ์ การสัมนาของหน่วยงานภาครัฐ หรือการฝึกอบรมต่างๆ จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาและนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้งานกันแล้ว การกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในระดับนโยบายของหน่วยงานภาครัฐจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญ ช่วยให้เกิดความมั่นใจแก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ใช้งานและองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ดังจะเห็นได้จากภาครัฐของหลายประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ ได้มีการประกาศนโยบายสนับสนุนโอเพ่นซอร์สและกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคนี้ต่างมีความก้าวหน้าไปในขั้นที่มีข้อกำหนดมาตรฐานซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชั่นใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วทั้งที่เริ่มต้นหลังบ้านเราหลายปี ความหวังที่จะได้เห็นความสามารถในการพึงพาตนเองของไทยได้ในด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์จึงต้องเริ่มจากการมีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่าปล่อยให้เป็นไปชนิดต่างคนต่างทำเช่นที่ผ่านมา

Tags:

linuxthailand