ก่อนจะออกเดินทางบนเส้นทางสายลีนุกซ์

Linux

ก่อนจะออกเดินทางบนเส้นทางสายลีนุกซ์

เกือบ 9 ปีที่ผ่านมา

2 min read

บทความนี้มีต้นฉบับมาจากเว็บ linuxthailand.org ซึ่งตอนนี้เข้าไม่ได้ ผมเห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์เลยขอนำมาอัพไว้ที่เว็บนี้ เผื่อท่านใดสนใจที่จะอ่านมัน ซึ่งหากทีมงานหรือเจ้าของบทความเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมยินดีนำบทความนี้ออกให้ครับ

ท่ามกลางกระแสแห่งเทคโนโลยีที่พัดผ่านอยู่รอบ ๆ ตัวของเรา พัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์อันเป็นนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการดำรงชีวิตประจำวันของเราใน ทุก ๆ ด้าน ทั้งทางตรง และทางอ้อม และนับวันยิ่งมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ สังคมรอบ ตัวเรากำลังถูกหลอมรวมกับสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์แวร์จนแทบแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน เครื่องเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต อีเมล์ เกมส์ออนไลน์ การส่ง SMS ฯลฯ

เช่นเดียวกับในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์ได้เข้า มามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรา ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าซอฟต์แวร์ไมโครซอฟต์วินโดวส์ เป็นต้นกำเนิดของงานสร้างสรรค์นานับประการทางด้านคอมพิวเตอร์ เป็นศูนย์กลางของ ซอฟต์แวร์นานาชนิดที่นำมาซึ่งการพัฒนาด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งด้านธุรกิจ วิศวกรรม อุตสาหกรรม สื่อสาร ศิลปะและความบันเทิง

บนเส้นทางการพัฒนาย่อมมีทางเลือกที่แตกต่างเกิดขึ้นอยู่เสมอ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ คือ ทางเลือกใหม่ที่ผู้พัฒนาระบบ และผู้ใช้คอมพิวเตอร์หันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีความคาดหวังที่จะนำมาใช้งานทดแทนระบบปฏิบัติการเดิมที่ใช้อยู่ ด้วยเหตุผลสำคัญเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น หากมองอย่างผิวเผินพิจารณาดูแล้วอาจเป็นเรื่องง่าย ที่จะ “ลอง” ของใหม่ซักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการลองของ “ฟรี” อย่างระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ แต่ถ้าพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว ในความง่ายที่จะลองนั้น อาจจะมีอุปสรรค เงื่อนไข ความซับซ้อน และการลงทุน ที่ซุกซ่อนอยู่ก็ได้

หากเปรียบการใช้ระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ในฝ่ายวินโดวส์เป็นเสมือนบ้านของเรา ที่เราอาศัยอยู่ด้วยความสะดวกสบาย รู้สึกคุ้นเคย อาจจะมีความขัดแย้งบ้างเป็นพัก ๆ นำมาเทียบกับการโยกย้ายไปใช้ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ ก็คล้ายกับการออกเดินทางไปสู่สถานที่แห่งใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ดังนั้นเพื่อการเดินทางที่ ราบรื่นปราศจากอุปสรรค แน่นอนว่าจะต้องมีการเตรียมตัวกันบ้างเป็นธรรมดา

เช็คลิสต์ 10+1 ข้อ ก่อนออกเดินทาง

ถ้าคุณไม่เคยไปเที่ยวที่ไหนซักแห่งไกล ๆ และเป็นที่ ๆ คุณไม่เคยไปมาก่อนคุณจะรู้สึกอย่างไรบ้าง คุณคงต้องเตรียมการต่าง ๆ ให้ดีที่สุดใช่มั๊ยครับ คุณอาจจะทำเช็คลิสต์ขึ้นซักแผ่นหนึ่งเขียนสิ่งที่คุณคิด ว่าสำคัญ และจำเป็นต่อการเตรียมตัวทั้งหมดลงไปเป็นข้อ ๆ จากนั้นจึงเริ่มตรวจสอบความพร้อมทีละข้อ ๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ได้หลงลืมเรื่องสำคัญบางอย่างไป แน่นอนครับบางข้อคุณอาจจะต้องทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก หากเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หรือ การเดินทางของคุณไกลและเสี่ยงอันตรายมาก ( อย่างเช่น น่าซ่าจะส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไป ดวงจันทร์ )

การศึกษา และนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์มาใช้งานในองค์กรก็เช่นเดียวกัน คุณลองร่าง เช็คลิสต์ของคุณไปพร้อม ๆ กันนะครับ

  1. จุดประสงค์ของการเดินทางคืออะไร เช่น เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนคลายเครียด เดินทางไปขุดทอง บุกเบิก ค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ให้ชีวิต หรือ เดินทางไปทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จุดประสงค์ของการนำลีนุกซ์ มาใช้ของคุณคืออะไร ลองเล่น ๆ สนุก ๆ ไม่คาดหวังอะไรมาก หรือต้องการนำมาใช้งานอย่างจริงจัง

  2. จุดหมายของการเดินทางจะไปที่ไหนถ้าหากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวก็ต้องกำหนดสถานที่ท่องเที่ยว ที่จะไป จะเป็นป่าเขา ทะเลหรือเมืองต่างๆ รูปแบบอาจจะเป็นแบบช๊อปปิ้งชมวิวทิวทัศน์ ผจญภัย ศึกษาประวัติศาสตร์ จุดหมายของการศึกษาลีนุกซ์ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง เช่น นำไปใช้งานเดสทอปต่างๆ ใช้งานทดแทนเซิร์ฟเวอร์ระบบเดิมให้มากที่สุด ต้องการเขียนโปรแกรม สร้างแอปพลิเคชั่น พัฒนาโปรเจ็กต์ต่างๆ หรือจะแฮดโค๊ดของลีนุกซ์ให้ถึงแก่นกันไปเลย จุดหมายที่กล่าวงถึงเหล่านี้แท้ที่จริงก็คือ เป้าหมายที่ ชัดเจนของการนำลีนุกซ์มา ใช้งานนั่นเอง

  3. ตรวจสอบเส้นทางก่อนออกเดินทาง เมื่อทราบจุดหมายของการเดินทางแล้ว จะมีวิธีใดบ้าง ที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นบ้าง ทางรถ ทางเรือ หรือทางเครื่องบิน หากเป็นทางรถยนต์ก็อาจจะมี เส้นทางให้เลือกหลายทาง เส้นทางช่วงใดบ้างที่สภาพเส้นทางไม่ปลอดภัย ต้องระมัดระวัง จุดใดจะพักรถเติมน้ำมันได้บ้าง หากมีการตรวจสอบสภาพเส้นทางก่อนจะช่วยให้ปลอดภัย ไม่เสียเวลา และค่าใช้จ่าย สำหรับการนำลีนุกซ์ไปใช้งานในองค์กรนั้น มีโซลูชั่นใดบ้างที่มีความเป็นไปได้ มีความเหมาะสมกับความต้องการและปัจจัยรอบข้างขององค์กร มีลำดับขั้นตอน และแนวทางการปรับเปลี่ยน เข้าสู่องค์กรได้อย่างไรบ้าง โซลูชั่นเหล่านี้ควรมีการศึกษาข้อมูลไว้ล่วงหน้า

  4. วางแผนด้านงบประมาณ เรื่องเงินทองเป็นของสำคัญ ก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยว หรือไปติดต่อธุรกิจ จะต้องจัดเตรียมงบประมาณฉันใด การลงทุนเพื่อนำลีนุกซ์ไปใช้งานก็ฉันนั้น หากเลือกเดินทางด้วยรถธรรมดา อาจจะประหยัดกว่าแต่ก็เสียเวลาเดินทางนาน แต่ถ้าเลือกรถเร็วหรือรถด่วนพิเศษก็จะช่วยให้ประหยัดเวลาได้มาก หากไม่รีบร้อนนักก็อาจจะศึกษาลีนุกซ์ทีละเล็กทีละน้อย (ในระยะแรก ๆ แฮคเกอร์ที่เล่นลีนุกซ์นิยมใช้วิธีนี้กัน) แต่ถ้าต้องการประหยัดเวลาก็อาจจะเข้าคอร์สอบรมตามสถาบันต่าง ๆ ที่เปิดอบรมอยู่ หรือรวดเร็วกว่านั้นก็อาจจะ จ้างเหมาบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาวางระบบพร้อมกับฝึกอบรมพร้อมกันไปเลย แต่นั่นก็หมายถึงการเดินทางด้วย เครื่องบินชั้น Business Class แล้วครับ สำหรับเรื่องของงบประมาณ รวมไปถึงมูลค่าของผลตอบแทนต่อการ ลงทุนนั้นในต่างประเทศจะให้ความสำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับในบ้านเรา

  5. เช็คสภาพพาหนะและผู้ขับขี่ บ่อยครั้งที่เราออกเดินทางโดยละเลยเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะถ้าพาหนะ มีปัญหา หรือผู้ขับขี่ขาดความพร้อม ย่อมทำให้การเดินทางไม่เป็นไปตามที่กำหนดเอาไว้ และอาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ สำหรับการศึกษาลีนุกซ์แล้ว ผู้เริ่มศึกษาลีนุกซ์ควรมีการเตรียมความพร้อมของตนเองเสียก่อน โดยอาจจะปรึกษาผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ที่ศึกษาและใช้งานลีนุกซ์มาก่อน ว่าควรเริ่มต้นอย่างไร มีหนังสือ ตำรา เอกสารใดบ้างที่ควรอ่าน อาจจะ ใช้วิธีสอบถามจากผู้รู้ตามเว็บบอร์ด หรือ ยูสเน็ต หรือยึดถือหลักสูตรของสถาบันที่เปิดอบรมลีนุกซ์เป็นแผนในการเดินทาง ของคุณก็ได้ ก่อนที่ผู้เขียนจะสอบ RHCE ก็ฝึกฝนวิทยายุทธด้วย RHCE Preparation Guide ของ Red Hat เช่นกัน สำหรับแนวทางการศึกษาลีนุกซ์ให้ได้ผลนั้นผู้เขียนจะนำมาแจกแจงโดยละเอียดกันในโอกาสต่อไป

  6. จัดโปรแกรมทัวร์ หมายกำหนดการออกเดินทาง จุดแวะพัก สถานที่ท่องเที่ยว และ หน้าที่รับผิดชอบของสมาชิกทัวร์ ทุกคน ควรมีการจัดการไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้เพื่อความเรียบร้อยตลอดทริป การนำลีนุกซ์เข้ามาใช้ในองค์กรก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการโครงการ กำหนดผู้รับผิดชอบขึ้นดูแลงานส่วนต่าง ๆ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน กำหนด กลุ่มผู้ใช้ในโครงการนำร่อง กำหนดเวลาและวิธีการประเมินผล สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการ พัฒนาลีนุกซ์ในองค์กรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสะท้อนไปถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ อีกด้วย

  7. หาเพื่อนร่วมทาง เมื่อเดินทางไปที่ไหนไกลๆ หากมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยก็จะช่วยให้อุ่นใจ ไม่เหงา มีปัญหาอะไร เกิดขึ้นก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขปัญหากันได้ ยังไงก็ต้องดีกว่าเดินทางไปคนเดียวแน่นอน ตั้งแต่ยุคแรกที่เริ่มมีการนำลีนุกซ์ มาใช้งานกัน เพื่อนที่ช่วยแก้ไขปัญหา แนะนำและเผยแพร่การประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ นั้นจะมาจากสังคมที่แฝงอยู่ในเครือ ข่ายอินเตอร์เน็ต ในระยะต่อมาการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เริ่มก่อตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้ หรือ User Group แต่ก็ยัง อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง ปัจจุบันมีบริษัทที่ทำโซลูชั่นและซัพพอร์ตทางเทคนิคให้แก่สมาชิกเพิ่มขึ้นตั้งแต่รายเล็ก ๆ ไปจนถึงรายใหญ่อย่าง IBM อย่างไรก็ตามคุณภาพของการให้บริการและซัพพอร์ตเป็นปัญหาที่เราทราบกันดีว่าอยู่ในระดับ ที่เราคงจะวางใจไม่ได้ทั้งหมด และยังคงต้องพึงพาตนเองอยู่นั่นเอง เมื่อนำลีนุกซ์เข้ามาในองค์กรโดยไม่มีการสนับสนุนทาง เทคนิคภาระจึงตกอยู่ที่บุคคลากรฝ่ายไอที ปัญหานี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องพิจารณาให้ดี และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ตรง กันระหว่างผู้บริหารกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

  8. เตรียมตัวสำหรับความแตกต่าง การเดินทางไปยังสถานที่อื่นที่เราไม่คุ้นเคย ย่อมมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปไม่เหมือน กับที่เคยพบมาก่อน เช่น ภาษาท้องถิ่น ภูมิอากาศ วิถีการดำเนินชีวิต อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและเวลาที่แตกต่างกัน(ในต่างประเทศ) ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ การเปลี่ยนมาใช้งานระบบลีนุกซ์ก็เช่นกันย่อมมีความแตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่ คุณต้องใช้ความจำ มากกว่าเดิม เพื่อจดจำคำสั่งแบบคอมมานด์ไลน์ คุณจะใช้เมาส์น้อยลง แต่ต้องใช้แป้นพิมพ์เพิ่มขึ้น คุณต้องสนใจเรื่องการเขียน โปรแกรมมากขึ้นกว่าเดิม คุณจะต้องปรับตัวไม่น้อยเลยแต่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายไม่น้อยเช่นกัน

Bon Voyage

การเริ่มต้นนำระบบปฏิบัติการลีนุกซ์มาใช้ในองค์กรมีประเด็นต่าง ๆ มากมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่แตกต่างอะไรกับการเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง หากมีความพร้อมและทราบถึงอุปสรรคที่จะต้องประสบก็คงจะไม่ยากที่จะเตรียมการป้องกัน อย่างไรก็ตามความรู้ และความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องทุกระดับในองค์กรถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จตามแผนพัฒนาที่ทุกฝ่ายต้องการ หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้แนวทางที่จะนำลีนุกซ์มาใช้งานกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ขอให้มีความสุขกับการเดินทางนะครับ

Tags:

linuxthailand